4

    ๑๐๘ ปี วันสถาปนากรมชลประทาน
วันที่ ๑๓ มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน แล้วในปีนี้ ครบรอบปีที่ ๑๐๘ โครงการชลประทานยะลาได้จัดกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย เช่น กิจกรรมทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม เพื่อขอพร รับ ศีล ความเป็นศิริมงคล เปิดที่ทำการฝายปฏิบัติการสูบน้ำอย่างเป็นทางการ การทำความสะอาดบริเวณที่ทำการโครงการ

การพัฒนางานชลประทานอย่างเป็นระบบได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมคลอง" ขึ้นในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๔๕ จากนั้นงานชลประทานก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๗๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

กว่า ๑ ศตวรรษที่ผ่านมา กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศชาติและประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค และในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ นี้กรมชลประทานจะมีอายุครบ ๙ รอบ ๑๐๘ ปี และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๑๐๙

ในโอกาสสำคัญนี้ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมต่างๆของกรมชลประทานว่า การก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐๙ กรมชลประทานยังมุ่งเน้นการทำงานตามพันธกิจหลัก คือ การพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้สมดุล การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงเป็นธรรม และยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำทุกระดับ อย่างบูรณาการ ตลอดจนดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ

ทั้งนี้กรมชลประทานจะดูแลพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อคนไทยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสานต่องานที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค รักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์และเพื่อใช้ในการเกษตร พร้อมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การบำรุงรักษาแหล่งน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบุรณ์ใช้งาน ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักที่กรมชลประทานยึดมั่น และยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้พัฒนารูปแบบของการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพครอบคลุมในทุก พื้นที่มากขึ้น โดยการกำหนดความชัดเจนของหน้าที่ความรับผิดชอบและการดำเนินงานของกลุ่มหรือ องค์กรร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากกลุ่มผู้ใช้น้ำเดิมได้มีวิวัฒนาการไปเป็น กลุ่มบริหารการใช้น้ำ สมาคมผู้ใช้น้ำชลประทาน สหกรณ์ผู้ใช้น้ำชลประทาน จนไปถึงการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและภาคเอกชน ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของกลุ่มหรือคณะกรรมการดังกล่าว มีส่วนช่วยให้รูปแบบการบริหารจัดการน้ำ ที่จากเดิมมีเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นผู้กำหนด สามารถตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้น้ำได้อย่างชัดเจนและตรงจุด ขึ้น เนื่องจากเป็นแนวทางที่กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถจัดการวางแผนกันได้เองภายใน กลุ่ม โดยในปัจจุบันกลุ่มต่างๆเหล่านี้จะดูแลพื้นที่ชลประทานกว่า ๑๓ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๕๔ ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด โดยมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาอุปกรณ์การชลประทาน ดูแลและตรวจสอบความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่

นอกจากนี้กรมชลประทานได้มีการตั้งอาสาสมัครชลประทาน ซึ่งเป็นการคัดเลือกตัวแทนจากองค์ผู้ใช้น้ำต่างๆ มีหน้าที่ดูแลพื้นที่คนละประมาณ ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ ไร่ อย่างใกล้ชิด รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างกรมชลประทานกับกลุ่มผู้ใช้ น้ำต่างๆ เพื่อวางแผนควบคุมการใช้น้ำและการดูแลรักษาแหล่งน้ำ โดยกรมชลประทานมีค่าตอบแทนสำหรับอาสาสมัครชลประทานเดือนละประมาณ ๑,๒๐๐ บาท ขณะนี้มีอาสาสมัครชลประทานอยู่ตามพื้นที่ต่างๆประมาณ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งในปีนี้กรมฯยังคงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนอาสาสมัครให้มากขึ้น เพื่อกระจายการดูแลพื้นที่ชลประทาน และวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างสูงสุด

การพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งในโอกาสการก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๑๐๙ เพื่อสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงยังคงดำเนินงานบรรเทาภัยทางน้ำ โดยจัดเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือของกรมที่มีอยู่ เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาภัยทางน้ำหรืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทัน เหตุการณ์

"อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่กรมชลประทานยังคงมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่กรมชลประทานจะต้องสนองพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยในประเทศได้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร การดำรงชีวิตและรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์" นายชลิตกล่าว.